- บทนำ -
มีพี่ๆหลายคน ซื้อเครื่องตั้งเวลาไปทำระบบ over flow พอทำเสร็จก็กรุณาส่งรูปมาให้ดู .... เห็นเเล้วก็อยากมีบ่อสวยๆกับเค้าบ้าง เลยเป็นที่มาของกระทู้นี้ครับ
ก่อนหน้า เคยมีปัญหาบ่อปลาเเตกร้าวจากรากต้นไม้ (อ่านย้อนหลังได้ >> "คลิ๊กที่นี้") พอจะทำบ่อใหม่ก็ตั้งใจว่าจะทำให้ดี ให้สวย เเละ ที่สำคัญต้องทนทาน.. เลยขอเอาข้อเเชร์ประสบการณ์ ลองอะไรเเปลกๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์เเก่คนที่สนใจ เอาไปต่อยอด ปรับใช้กันตามสะดวกนะครับ
บ่อปลาคราฟ ... จัดว่าเป็นของฟุ่มเฟือย
เเต่มีคุณค่าทางจิตใจกับผู้เลี้ยง เพราะฉะนั้นถ้าชอบอยากเลี้ยง
ก็จัดได้ตามกำลังทรัพย์ ขอให้เลี้ยงเค้าให้ดีเป็นพอ
ใครคิดว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ข้าม ไปอ่านบทความอื่นได้เลยนะครับ
การทำบ่อครั้งนี้ อาจไม่ตรงตามทฤษฏีที่เค้าบอกกันมาทั้งหมด
ผมเลือกปรับให้เหมาะสมตามความชอบส่วนตัว
ไม่ได้เน้นเรื่องประหยัด อุปกรณ์ที่ใช้จะอยู่ในระดับทั่วไป
ไม่ได้ดีขนาดระดับเลี้ยงประกวดนะครับ
หมายเหตุ : ผมไม่ใช่มืออาชีพเรื่องนี้ ข้อมูลอาจผิดพลาด เเต่ยืนยันว่าสิ่งที่เขียนเป็นเรื่องจริงทั้งหมดครับ
ปล. เนื้อหาด้านบนเยอะหน่อยนะครับ ถ้าไม่ชอบอ่าน เลื่อนไปดูรูปด้านล่างได้เลย
- แนวคิดที่ใช้คิดในการทำบ่อ -
1. "น้ำต้องสะอาด" เพราะ น้ำคือจักรวาลของปลา ปลาต้องอยู่ดีกินดี
2. บ่อต้องเเข็งเเรง ทนทาน ไม่ทรุด ไม่ร้าว รั่วซึม ใช้ได้นาน เเละ สวย
3. สะดวกต่อการการดูเเลรักษาในระยะยาว
4. อยากลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ขัดกับข้อด้านบนก็ลองเลย
บ่อขนาดนี้ถ้าไปให้มืออาชีพมาทำให้ เเพงเอาเรื่องอยู่ครับ ... เลยเก็บข้อมูลเพิ่ม ทั้งจากเวปในประเทศ เเละ ต่างประเทศ ว่าเค้ามีเทคนิคในการทำบ่อยังไง
ใช้วิธีกรองเเบบไหนบ้าง สรุปหลักๆที่น่าสนใจมาได้ประมาณนี้ครับ
- ทบทวนวรรณกรรม -
สรุปข้อมูลเกี่ยวกับบ่อปลาที่เรามักเจอกันในเน็ตก่อน (มีหลายสำนักนะครับ ข้อมูลตัวเลขอาจจะไม่ตรงกัน .. อ่านไว้ให้รู้ เเต่ไม่ต้องเชื่อทั้งหมดก็ได้ครับ เอาเเค่พอเป็นไอเดีย)
- บ่อปลาคราฟ ควรมีน้ำไหล เเละ มีเสียงน้ำตก ปลาจะไม่ค่อยกระโดด
- บ่อปลาคราฟ ยิ่งลึกยิ่งดี ควรลึกมากกว่า 1 เมตร
- หากต้องการให้ปลาโตยาวเเค่ไหน ให้สร้างบ่อให้สัดส่วนความกว้างมากกว่า 1 เท่า เช่น อยากให้ปลาโต 50cms ก็ควรสร้างบ่อให้กว้าง 1 เมตร
- ลักษณะปลาคราฟที่ดี คือ หนาทั้งตัว การที่ปลามีพื้นที่ว่ายเยอะช่วยได้
- ระบบกรอง ไม่ควรเปิดๆปิดๆ เพราะ จุลินทรีย์ เเละ เเบคทีเรีย อาจจะตาย เป็นหนึ่งในสาเหตุของระบบกรองล่ม น้ำจะเสีย เขียว เเละ มีฟอง
- ขนาดบ่อกรองควรมีขนาด 1 ใน 3 ของบ่อ หรือ 30% ของปริมาณน้ำทั้งหมด
- บ่อกรองควรมีการหมุนเวียนของน้ำมากกว่า 15 รอบต่อวัน เช่น บ่อ 5 ตัน x 15รอบ = 75,000ลิตร(75ตัน) หาร 24ชั่วโมง = ต้องหาปั๊มน้ำที่ให้อัตราการไหลมากกว่า 3,125 ลิตร/ชั่วโมงขึ้นไปจะดี
- สะดื้อบ่อควรอยู่ตรงกลาง หากบ่อยาวมาก ให้เว้นระยะห่างไม่เกิน 3 เมตร
- ค่า pH ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาคราฟ คือ 7 - 7.5 (อันนี้มีหลายสำนักมาก)
- วิธีทำให้น้ำใส เร็ว เเละ ง่ายที่สุดคือ ใช้หลอด UV ให้น้ำไหลผ่าน (1w ต่อน้ำ 1,000 ลิตร) หรือ จะเติมจุลินทรีย์ ฯลฯ (อันนี้ผมไม่ใช้ดีที่สุด)
หลักๆ ก็จะมีประมาณนี้ครับ ... (ขอไม่พูดถึงเรื่อง ฮวงจุ้ย นะครับ ชอบยังไง สะดวกเเบบไหน ดูเเล้วเหมาะสม ก็ทำไปเถอะครับ ค่อยๆปรับเอา)
- เริ่มลงมือ -
หลังจากศึกษา ก็เริ่มมาออกเเบบบ่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเรากันครับ โดยทางทำครั้งนี้ ผมอยากทดสอบ 2-3 เรื่อง คือ
1. จะไม่มีการเปลี่ยนน้ำเลย (ปกติเราควรต้องถ่ายน้ำ หลังจากเติมน้ำเต็มครั้งเเรก) เเต่ครั้งนี้ผมจะไม่ถ่ายน้ำเลย อยากทดสอบว่าน้ำจะสามารถปรับสภาพตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งน้ำยา หรือ สารเคมีใดใด โดย เช็คค่า pH (อันนี้ไปได้เเนวคิดมาจากเวป ต่างประเทศครับ เค้าบอกว่าถ้าสภาพน้ำได้พร้อมเมื่อไร ตะไคร่จะเริ่มเกาะ นั้นหมายถึง ระบบหมุนเวียนของน้ำผ่าน)
2. ขนาดบ่อกรองเล็กกว่าที่ควร เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ โดยเเบบบ่อที่คิดไว้บ่อกรองจะมีขนาด 1 ใน 5 ของบ่อ โดยคิดว่าถ้าเราเพิ่มรอบการหมุนของน้ำเเละ สร้างลำธารเลียนเเบบกรองตามธรรมชาติช่วย น่าจะไม่มีปัญหา (ข้อนี้ หากไม่สำเร็จคงต้องขยันล้างกรองบ่อกรองเเทนเอา ไม่ก็ติดถังกรองเพิ่มนอกบ่อทีหลัง)
3. ตั้งใจว่าจะไม่ใช้หลอด UV เพื่อทำให้น้ำใส ผมคิดว่าถ้าระบบน้ำสมบูรณ์ เเละ กรองอยู่ตัวเมื่อไร น้ำควรจะใส โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่ง ถ้าใช้หลอด UV หรือ น้ำยาอะไร เราจะต้องใช้ไปตลอด เลยตัดปัญหาว่า จะพึ่งกรอง กับระบบปั๊มอย่างเดียว ดูว่าจะรอดมั้ย
4. เรื่องประหยัดระยะยาว คือ ตั้งใจจะใช้ปั๊มน้ำอย่างเดียว ในการสร้างระบบน้ำวน เเละ เพิ่มอากาศในน้ำ (จุดนี้ไม่กล้าเสี่ยง เลยเดินระบบปั๊มอากาศไปด้วย เพราะเเก้ทีหลังจะลำบาก)
อย่างที่บอกว่าผมตั้งใจทำบ่อ ที่เเข็งเเรง ทนทาน สวย เเละ เหมาะสำหรับเลี้ยงปลาฉะนั้นผมตัดวิธีใช้ผ้ายางมารองก้นหลุม เเบบที่เน้นประหยัด ออกไปนะครับ
โอเค... มาเริ่มกันครับ ก่อนอื่นผมว่าเลือกจุดที่จะทำบ่อ ออกเเบบตามความชอบ อะไรบางอย่างที่ดูเเล้วเกินจำเป็น ก็ตัดออกไป เพราะฉะนั้นระบบกรองที่ผมใช้อาจไม่ใช้ระบบกรองที่ดีที่สุด เเต่ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
น้ำใสเห็นก้นบ่อชัด ค่า pH อยู่ที่ 7 ปลากกินอาหารเก่ง ร่าเริง โตไวเห็นได้ชัด
- การออกแบบ-
ก่อนจะเริ่มอะไร เเนะนำให้วางเเผนให้ดีก่อนครับ มาเเก้หน้างานทีหลังยาก เเละ อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผมลองวาดเเบบคราวๆไว้ เวลาคุยกับช่าง จะง่ายขึ้นเยอะ
อันนี้เป็นบ่อที่ผมออกเเบบมาจากข้อมูลจากหลายๆเเหล่ง
ใครจะเอาไปปรับใช้ ก็เชิญตามสบายเลยครับ ไม่มีลิขสิทธิ์
มองจากด้านข้างจะประมาณนี้ครับ
ผมตัดสินใจทำบ่อขนาดความจุประมาณ 6 ตัน (ยาว 3 เมตร กว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร) // ตั้งใจจะเลี้ยงปลาคราฟไม่เกิน 12ตัว // สะดืออยู่กลางบ่อ เทปูนลาดไล่ระดับจุดลึกสุดอยู่ที่สะดือบ่อ // มีตัวกรองดูุดฟองผิวน้ำ // มีระบบน้ำล้น
ถ้ามองจากด้านบนลงไป (บ่อจริงจะขุดเป็นรูปเเบบอิสระ) โดยจะประกอบไปด้วยบ่อกรองเเบ่ง 3 ช่อง ใช้ท่อสะดื้อขนาด 6"นิ้ว ดูดน้ำมาเข้าช่องเเรก // สร้างลำธารให้สูงกว่าระดับน้ำในบ่อเล็กน้อยเพื่อปล่อยน้ำไหลเลียนเเบบกรองตามธรรมชาติ ท่อน้ำล้นจะซ่อนอยู่บริเวณลำธาร
ระบบน้ำ ใช้ปั๊ม 85w(10,00ลิตร/ชั่วโมง) เพื่อตอบโจทย์เรื่องรอบหมุนของน้ำ ถ้าคำนวณไม่ผิด น้ำจะผ่านกรองประมาณ 40 รอบ ต่อวัน (น้ำในบ่อ 6,000ลิตร) โดยค่าไฟจะอยู่ที่ประมาณ 280 บาท ต่อเดือน // น้ำจะเเบ่งออกเป็น 4 จุด ทุกจุดมีวาล์วปรับเเรงดัน 1. ปล่อยในบ่อให้ดันน้ำ 2.ปล่อยน้ำบนลำธารผ่านกรองเเล้วดันออกจากมุม 3.ดันใต้น้ำเพื่อดันฟองเข้าตัวดักฟอง 4.ท่อน้ำทิ้ง
ส่วนระบบอากาศ อันนี้ทำเผื่อไว้ก่อนถึงตั้งใจว่าจะไม่ใช้เเต่ไม่กล้าเสี่ยง โดยเเบ่งอากาศไปเลี้ยง 1 บ่อกรอง(ทำให้จุลินทรีย์ เเละ เเบตทีเรีย ทำงานได้ดีขึ้น) 2. เข้าจานอากาศกลางบ่อ 3.ใต้น้ำตก ใช้ปั๊ม 100W มีวาล์วคุมเเรงดันเเต่ละจุด [ถ้าผมตัดตัวนี้ไปได้ ผมจะประหยัดค่าไฟไปได้ 300 บาท ต่อเดือน] โดยอาศัยการสร้างอ๊อกซิเจนให้ปลา จากพลังงานน้ำล้วนๆ (หัวพ่นน้ำ/น้ำตก/น้ำพุ)
อันนี้ตัดด้านข้างมาให้ดูเหมือนกัน เเบ่งเป็น 3 ช่อง
ช่องเเรก น้ำเข้ามาจากสะดือบ่อ เเละ จากตัวดูดฟองบริเวณผิวน้ำ (ช่องนี้ผมใส่พู่ดักตะกอนไว้เลย) หลังจากผ่านพู่จะล้นข้ามไป
ช่องที่สอง ช่องนี้จะใหญ่ที่สุด ไล่จากบนลงล่าง 1.ใยเเก้วเเบบหยาบ 2.เปลือกหอยนางรม(ระวังบาดนะครับ คมมาก) 3.หินภูเขาไฟ(อย่าใช้ปะการังเลยครับ ผิดกฏหมาย ที่ร้านมีขายเเต่ผมก็ไม่ซื้อ) 4.ตระกร้า ใส่ลูกบอลให้จุลินทรีย์เกาะ โดยน้ำผ่านช่องนี้เเล้วจะเข้าสู่ช่องที่สาม(รูน้ำลอดไม่ต้องติดพื้นนะครับ ให้ตะกอนตกเข้าลงไปด้านใต้ จุลินทรีย์จะจัดการย่อย)
ช่องสุดท้าย ผมใช้วิธีต่อท่อดูดน้ำเข้าให้อยู่สูงกว่าตัวปั๊ม ป้องกันหากน้ำไหลเข้าช่องสุดท้ายไม่ทัน ปัั๊มจะได้ไม่ไหม้ เเล้วดันน้ำออกตามทางที่เเบ่งไว้ครับ
(ถ้าทำบ่อก่อขึ้น เเนะนำให้ทำท่อชักน้ำทิ้งไว้ด้านล่างกรองเเต่ละช่องนะครับ เวลาทำความสะอาดจะได้ง่าย)
- หาช่าง -
เเบบเสร็จก็หาช่างเลยครับ ... เเนะนำหาช่างที่ถนัดงานก่อฉาบจะดีที่สุดครับ เอาเเบบให้ดู ผมคุยราคาเหมาเเรง (ข้่อดีของการเหมาค่าเเรง คือ ช่างจะพยายามทำให้เสร็จเร็ว โดยเราไม่ต้องเร่งมาก) เเบ่งการจ่ายเงินเป็นงวดๆ ผมเเบ่งถี่หน่อย เเต่ไม่มีการเบิกล่วงหน้า หรือ ให้ก่อนนะครับ (ขุดดัน / เทพื้น / ผูกเหล็ก / ก่อ / เท / ฉาบ / ขัดมัน / เก็บงาน) ช่างอยากได้เงิน ก็ต้องรีบทำครับ ทำดี เสร็จไว มีพิเศษให้อีกทุกจุด
- รุปภาพ เเละ Timer line -
เอาสายยางมาวางเป็นทรงที่เราต้องการ เทปูนขาว
ให้ช่างดูก่อนตกลงราคาเหมาะเลยครับ ถ้าตกลงได้ก็เริ่ม "ขุด"
(10-มีนาคม-2559)
ค่อยๆขุดตามรอยปูนขาวที่เทไว้ ..
อย่าลืมหาพื้นที่สำหรับเก็บดินที่ขุดขึ้นมาด้วยนะครับ พอดีผมจะปูหญ้าใหม่อยู่เเล้ว เลยทับหญ้าเดิมไปเลย
ระหว่างรอเวลาขุดดิน ออกมาหาดูเเบบตามร้านขายปลา
รวดซื้ออุปกรณ์สำหรับวางระบบ
อุปกรณ์ที่ซื้อ ได้เเก่
1. กรองดูุดฟองผิวน้ำ [skimmer] ตัวเทาๆ กลมๆ มุมล่างซ้ายของรูปครับ
2. จานให้อ๊อกซิเจน พร้อมข้อต่อสะดือบ่อ
3. ปั๊มน้ำ ผมซื้อ 85W (10,000 ลิตร/ชั่วโมง) 1 ตัว
4. ปั๊มอากาศ พอดีรุ่นเล็กหมด เลยซื้อรุ่น 100W มาเเทน
กลับมาดูบ่อว่าขุดได้ระดับที่เราต้องการรึยัง ??
ถ้าได้ระดับความลึกที่ต้องการเเล้วเตรียมเทปูนรองพื้นรอบเเรก
ผมมักจะอธิบายช่างตลอด กลัวช่างทำผิดเเบบ จะเสียเวลา เเละค่าใช้จ่าย
อย่างในรูปผมวาดเเบ่งกรองให้ช่างไว้อีกทีจะได้เข้าใจตรงกัน
ผมอยู่เชียงใหม่ ดินเดิมเเน่นอยู่เเล้ว เลยไม่ได้ลงเสาเข็มเพิ่ม
(13-มีนาคม-2559)
ให้ช่างเทพื้นปูนก่อน 1 รอบก่อนวางท่อสะดือ(ผมใช้ 6"นิ้ว)
เเล้วผูกเหล็กให้เรียบร้อย เเล้วค่อยเทปูนทับซ่อนท่ออีกรอบ
หาอะไรครอบท่อไว้ก่อน ปูนก็อย่าลืมผสมกันซึมด้วยนะครับ
อย่าลืมให้ช่างปรับระดับบ่อให้เรียบร้อยเลยนะครับ
(ท่อฟ้าเล็กๆที่โผล่ขึ้นมาคือ ท่ออากาศ รอต่อเข้าปั๊มลม)
ช่างเริ่มก่ออิฐ โดยเว้นร่องตรงกลางระหว่าง
ดิน กับ เหล็กเส้นที่ผูกไว้อยู่ระหว่างกลางอีกที
ขึ้นรูปตามทรงบ่อที่ต้องการ ยิ่งโค้งเยอะ ยิ่งใช้เวลา
เทปูนลงร่องระหว่างดิน กับ อิฐ จัดให้เหล็กเส้นอยู่ตรงกลาง
เดินระบบท่อน้ำ ก่อเสริมขอบ
ต่อท่ออากาศมาจุดที่จะติดปั๊มอากาศ
เทปูนขอบที่เสริมขึ้นมา ทำลำธารด้านข้าง
(23-มีนาคม-2559)
ช่วงก่อสร้างนี้ต้องทำใจหน่อยนะครับ
สภาพบ้านไม่กล้าเปิดรับเเขก เละกว่าที่คิดไว้เยอะครับ
ตั้งใจว่าจะให้เสร็จก่อนสงกรานต์
ฉาบ 90% เหลือบ่อกรอง
ต่อระบบน้ำ เช็ควาล์วปิดเปิด
(31-มีนาคม-2559) ทีมปูหญ้า เข้ามาปรับหน้าดิน
ใครหาข้อมูลจะปลูกหญ้า ดูรีวิวนี้ได้นะครับ
มีรายละเอียดรายอย่างอาจเป็นประโยชน์
ช่างบ่อปลา ก็ทำระบบน้ำไป ขั้นตอนนี้ควรจะอยู่ด้วยตลอดนะครับ
บ้างครั้งช่างเข้าใจผิดจะได้เเก้ไขได้ทัน
บางจุดทากาวเชื่อม บ้างจุดไม่ทากาวนะครับ
เวลาจะบำรุงรักษาจะได้ง่าย วัดระยะช่องบ่อกรองให้เรียบร้อย
ระบบน้ำ บ่อกรอง หญ้า เสร็จเรียบร้อย
เติมน้ำ เเต่งขอบบ่อด้วยอิฐ
วัดค่า pH = 5.5 กรดจากปูน
(2-เมษายน-2559)
ทดสอบระบบน้ำ ดูน้ำไหลตามที่ต้องการรึยัง
ปรับวาล์วเเต่ละจุดให้เรียบร้อย
ถ้าน้ำไหลตามที่ต้องการเเล้ว ติดตัวดักฟองผิวน้ำ
เดินระบบอากาศ
ติดตั้งจานให้อ๊อกซิเจนกลางบ่อ
ปรับเเรงดันอ๊อกซิเจนให้เรียบร้อย
เช็คระดับน้ำ สังเกตุการรั่วซึม ดูการไหลวนของน้ำ
(4-เมษายน-2559)
พยายามให้ช่างเก็บงาน ทำความสะอาดไปเรื่อยๆ
อย่าปล่อยให้มาทำความสะอาดทีเดียว
โชคดีที่ช่างคนนี้น่ารัก ขอให้ทำอะไรก็ทำให้หมด
ตีไม้ปิดบ่อกรอง กับ ตีตู้ไม้ครอบ ปั๊มลม
เป็นตู้เก็บของ เปิดปิดด้านบน เอาไว้นั้งเล่นดูปลา
อีกมุม ช่างเก็บงานเรียบร้อย ตามเเผน
(6-เมษายน-2559)
ซื้อหินมาเเต่งลำธาร
เรียงไว้สลับให้เหมือนเขาวงกต
อีกสักพักคงมีตะไคร่ขึ้น
ทำหน้าที่ช่วยกรองอีกทาง
(ตั้งเเต่เติมน้ำยังไม่มีการถ่ายน้ำออกหมดเเล้วเติมใหม่นะครับ)
ทำโครงหลังคา ตรงนี้ผมตัดสินใจตีเป็นระเเนง
กันฝน กันเเดด ได้ระดับหนึ่งครับ
ทันกำหนดครับ เก็บงานเรียบร้อยก่อนสงกรานต์
(12-เมษายน-2559)
ติดระบบพ่นหมอก ช่วยลดอุณหภูมิ รอบๆบ่อ
ใช้ Timer ควบคุมการเปิดปิด ลดร้อนรอบๆบ้านเฉพาะช่วงเวลากลางวัน
ใครสนใจอยากทำบ้าง ลองดูที่ Link นี้ครับ
มีวิธีทำอย่างละเอียดไว้ในนั้น ทำเองได้ไม่ยากครับ
ปาร์ตี้กับเพื่อนๆครับ มีบ่อ(เเต่ยังไม่ได้ลงปลา)
ปิ้ง ย่าง สบายใจ ... ข้อดีของการมีสวน
อยากกินอะไรก็เอามาปิ้งกินกัน
เล่นน้ำไป กินไป ปิ้งเท่าไรก็หมด
นั้ง พักผ่อนขอบบ่อ (ยังไม่ได้ลงปลานะครับ)
ความสุขเล็กๆ มีสวนอย่าปล่อยให้รกครับ เสียดาย
ดูเเลใส่ใจ เเล้วบ้านจะน่าดูดีขึ้นเยอะครับ
กลับมาต่อครับ ผ่านไป 15 วัน น้ำเขียวครับ
อย่างที่บอกครับ ต้องการทดสอบอะไรบางอย่าง
ผมยังไม่ถ่ายน้ำเลยตั้งเเต่วันที่ 2 เมษา เติมน้ำครั้งเเรก
ผมคิดว่า ธรรมชาติ จะสามารกจัดการตัวเองได้
ถ้าเป็นไปตามที่คิดเดี๋ยวน้ำจะกลับมาใสเอง
(17-เมษายน-2559)
ช่วงนี้ต้องอดทนมากครับ คิดว่าอยู่ในช่วงปรับสภาพน้ำ
น้ำเขียว ฟองเพียบ อดทนอย่างเดียว...
ถ้าคุณไปร้านนาทีนี้
เค้าจะเเนะนำให้คุณติดหลอด UV เเก้ปัญหาน้ำเขียว
เเต่ผมเลือกที่จะรอดูผล ว่าผมคิดถูกรึเปล่า
ทดสอบ Skimmer ดักฟองไปในตัว
ยังไม่ลงระบบกรองอะไรนะครับ ใช้เเค่ปั๊มน้ำทำน้ำวน
กับเปิดปั๊มอากาศให้อ๊อกซิเจนอย่างเดียว
ผ่านไป 1 อาทิตย์ ... น้ำใสขึ้น เริ่มมีตะไคร่จับก้นบ่อ เเละขอบ
ฟองลดลง ... ผมคิดว่าผมคิดถูกนะ
ไม่ใช้หลอด UV ไม่เติมน้ำยาอะไรทั้งนั้น
(21-เมษายน-2559)
ทุกอย่างดูดีครับ เป็นไปตามที่คิด หินในลำธารมีตะไคร่ขึ้น
ช่วยบำบัดน้ำอีกทาง เวปฝรั่งบอกไว้ว่า
ถ้ามีตะไคร่ขึ้นหมายถึงสภาพน้ำดีขึ้นอยู่ในระดับที่สิ่งมีชีวิตเริ่มอาศัยได้
ข้อดีของตะไคร่คือ ช่วยบำบัดน้ำ เป็นอาหารกินเล่นของปลา
ทดสอบค่า pH อยู่ที่ 7 ค่าปกติ
เเบบนี้ต้องพิสูจน์
ของเเบบนี้ต้องทดสอบเองครับ
ลงไปเเช่ดูเอง ชัวร์สุด เเช่ไปสักชั่วโมง
เริ่มมีความคิดอยากเก็บไว้เเช่เล่นเอง 55
(25-เมษายน-2559)
ผ่านไป 2 วันไม่มีอาการเเพ้ น้ำยังใสปกติ ค่า pH ปกติ
เริ่มใส่กรอง ในช่องตรงกลาง ครับ
ด้านสุดผมใส่ลูกบอลสำหรับเลี้ยงจุลินทรีย์ ไว้ในตะกร้า
ด้านล่างจะเป็นลูกบอลดำๆอยู่ครับ
ตามด้วยหินภูเขาไฟ ย้ำกันอีกทีนะครับ
ถ้าร้านเชียร์ขายปะการัง อย่าซื้อ !!
ผิดกฏหมาย เเละ ทำลายระบบนิเวศของทะเล
หินภูเขาไฟจะเบา ลอยน้ำผมใช้เปลือกหอยนางรมกดไว้ครับ
ใส่เปลือกหอยนางรมตามไปครับ ระวังบาดนะครับคมมาก
ปิดด้านบนด้วยเเผ่นกรองหยาบครับ
เเผ่นกรองหยาบเเบบนี้จะดีกว่ากรองใยเเก้วตรงที่มันทนกว่าหลายเท่า
ถึงดักเศษได้ไม่ละเอียดเท่า เเต่ทำความสะอาดง่ายกว่าเยอะ
เค้าขายเป็นตารางฟุตนะครับ เเบ่งตัดตามขนาด
กรองช่องเเรกผมใส่พวกพู่ กับเศษกรองหยาบลงไป
ตอนนี้ก็มาลุ้นกับครับว่าใส่กรองไปเเล้วจะเป็นยังไงบ้าง
น้ำจะไหลไปที่ปั๊มทันรึเปล่า เเต่ผมใช้สะดือขนาด 6"นิ้ว คิดว่าน่าจะไม่มีปัญหา
(30-เมษายน-2559)
อันนี้ตู้ครอบระบบไฟ กับ ปั๊มลมครับ
หลังจากน้ำใสได้เอง โดยยังไม่เปลี่ยนน้ำ
ไม่ใส่สารเคมี ไมีใช้หลอด UV
มาทดสอบต่อครับ ปิดระบบอากาศจากปั๊มลม
ใช้เเรงดันน้ำในการสร้างอ๊อกซิเจน เเล้วดูว่าจะเป็นยังไง
ผมใช้ท่อ PE มาปรับให้เป็นหัวพ่นฟอง
โดยอาศัยหลักเเรงดันน้ำ ดูดอากาศเข้าไป
ทำเเบบนี้ปรับได้เกือบ 360องศาเลยครับ
อันนี้ปรับให้เป็นพ่นน้ำบนผิวน้ำ อันนี้เป็นจุดที่ใช้น้ำพ่นออกจากกรอง
อันนี้เป็นตัวพ่นฟองอีกจุด พ่นเข้าหาตัวดักฟองครับ
ผมใช้จุกปิดท่อ PVC เกลียว 1/2" มาต่อเข้ากับท่อ
เเล้วใช้หลักการดูดอากาศจากเเรงดันน้ำเหมือนกันครับ
ข้อดีข้องหัวพ่นเเบบนี้คือขนาดเล็ก สั้น ลดโอกาสปลาว่ายมาชน
ที่สำคัญ ประหยัดครับ หลังจากทำหัวพ่นเรียบร้อย ผมปิดปั๊มลมไปเลย
วิธีทำให้เห็นชัดๆเลยครับ
ถอดเอาตัวปิด PVC มาเจาะรูครับ
เจาะรูประมาณนี้ครับ
เอามาต่อเข้ากับท่อ PE ครับ
(สีเขียวๆ ผมเอาสายยางมาตัดจะได้เเน่นขึ้นครับ)
ดูจากด้านหน้าก็ประมาณนี้ครับ
เเค่นี้เราก็จะได้หัวพ่น เเบบสั้น ไม่ถึง 2"นิ้ว
มาใช้งานในราคาไม่น่าเกิน 30 บาท
ผ่านไปอาทิตย์กว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดีครับ
หาปลามาลง ผมซื้อไซส์เล็กมากลง เสริมกับปลาจากบ่อเดิม
ไปรับมาจากฟาร์มเลย ปลาฟอร์มสวย สีสันสวยสด เเข็งเเรง
ราคาไม่เเพง เจ้าของใจดีครับ ถ้าใครอยู่เชียงใหม่ลองเเวะดูได้ครับ
ลงปลาวันที่ 9 พฤษภาคม 2559
หลังปล่อยปลาไปไปสักพัก น้ำกลับมาขุ่นอีก
ประมาณ 2 อาทิตย์ กลับมาใสเหมือนปกติ
เข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่กรองปรับสมดุล
ณ วันนี้ 15 กรกฏาคม 2559 ยังไม่เคยเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย
ปราคราฟยังอยู่ครบ
น้ำใสเห็นก้นบ่อ
ค่า pH ปกติ 7.0 - 7.5
ตะไคร่เกาขอบบ่อ 90%
ปลาว่าย ร่าเริง กินอาหารเก่ง
บ่อไม่มีอาการรั่วซึม
- สรุประยะเวลาในการทำบ่อ -
ช่างใช้เวลาทำบ่อ ไม่รวมหลังคา 25 วัน (10มีนา - 4 เมษา)
ทดสอบระบบน้ำ จนปล่อยปลา เดือนนิดๆ (2เมษา - 9 พค)
ระยะเวลาที่ปล่อยปลา จนถึง ปัจจุบัน เดือนกว่า (9พค - 15กค)
- งบประมาณในการทำบ่อ -
ค่าเเรงช่างเฉพาะบ่อปลา (เหมา) 7,000 บาท
ค่าอุปกรณ์ก่อสร้าง ปูน ทราย เหล็ก อิฐ ท่อฟ้่า น้ำยากันซึม 10,000 บาท
ปั๊มน้ำ 85w อัตราไหล 10,000ลิตร/ชั่วโมง 4,000 บาท
จานให้อากาศ พร้อมสะดือบ่อ 1,500 บาท
ตัวดูดฟองผิวน้ำ 250 บาท
ปั๊มอากาศ 100W 4,000 บาท (ไม่ได้ใช้เเล้ว)
วัสดุกรอง 2,000 บาท
รวมค่าใช้จ่าย : 25,150 บาท
(ไม่รวมปลา ถ้าตัดปั๊มอากาศ กับจานให้อากาศ ลดเหลือ 19,650 บาท)
** ช่างคนนี้ไม่เคยทำบ่อปลามาก่อน เลยทำให้ใช้เวลานานกว่าที่ควร ถ้าทำทุกวันต่อเนื่อง ใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน ก็ควรจะเสร็จ (ตามเเผน 15วัน) เรื่องค่าเเรงช่างนี้เเนะนำให้เหมานะครับ สบายใจกันทั้งคู่ ช่างจะทำเสร็จเร็ว-ช้า ก็ขึ้นอยู่กับช่างเอง ไม่ต้องปวดหัวกันทีหลัง ถ้างานออกมาถูกใจก็ให้พิเศษเพิ่มไป
ที่สำคัญ ถ้าเหมาเเรงเเล้ว ช่างต้องการอุปกรณ์อะไร
ให้เค้าไปสั่งร้านก่อสร้างที่เราเปิดบิลกับร้าน ให้ช่างสั่งเเล้วร้านมาเก็บเงินที่เรา
ตัดปัญหาเรื่อง คุณภาพ เกรดสินค้า กับ หัวคิว เพิ่มราคาของ
ตอนเลือกช่่าง ถ้ารายละเอียดงานช่างไป
เเล้วช่างบอกเหมาเเรงโดยจ่ายนับเป็นวันเอา
เเล้วไม่บอกว่ากี่วันถึงจะเสร็จ เเบบนี้อย่าจ้างนะครับ
เราให้รายละเอียดไปเเล้ว ช่างควรจะตอบได้ว่ากี่วันควรจะเสร็จ
อย่างบ่อผม ผมคิดไว้ที่ 15 วัน
ช่างบอกไม่เคยทำขอเวลา 20 วัน
วันละ 350 บาท = 7,000 บาท
(เฉพาะบ่อปลา ช่างทำไป 25วัน ไม่รวมหลังคา)
- งบประมาณในการดูเเลรักษา (ต่อเดือน) -
ค่าอาหาร ประมาณ 200 บาทต่อเดือน (อันนี้เเล้วเเต่ยี่ห้อ)
ค่าไฟ ตอนนี้ใช้ปั๊มน้ำ 85w อย่างเดียว เดือนหนึ่งไม่เกิน 300 บาท
ค่ายา ค่าเกลือ อื่นๆ 200 บาท
รวมทั้งหมด เดือนหนึ่ง ไม่เกิน 700 บาท
- คำเเนะนำในการทำบ่อ -
จะเลี้ยงปลาอะไร กี่ตัว หาข้อมูลไว้ก่อนเลย
สรุปเเบบ กับ สถานที่ ให้ชัดเจนก่อน
ให้ความสำคัญกับระบบกรองเป็นพิเศษ
ทำใจเรื่องยุงไว้ด้วยนะครับ
คิดถึงที่จะไว้ดินที่ขุดขึ้นมาสำหรับบ่อขุด
เผื่อเงินสำรองไว้สำหรับทำหลังคา
อยากได้ข้อมูลอะไร ถ้าไม่เเน่ใจ ถามหลายๆร้าน อย่าเชื่อร้านเดียว
วัสดุมีหลายเกรด เลือกเอาตามความเหมาะสม
เลี้ยงปลา ต้องใจเย็น อย่าใจร้อนหากไม่เเน่ใจอย่าพึ่งลงปลา
ทำใจเรื่องค่าอาหาร ค่าไฟ ค่ายา ฯลฯ ไว้ด้วยนะครับ
(ตัวเเสบ วิ่งเล่นเสร็จชอบมากินน้ำที่บ่อปลา)
หากบทความนี้ มีข้อผิดพลาดตรงไหนต้องขออภัยไว้ด้วยนะครับ
ถ้าคิดว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจ เเชร์ได้เลยนะครับ
ยังไงกด Like เป็นกำลังใจให้ทีมงานในการทำรีวิวด้วยนะครับ ....
ขอบคุณมากครับ _/\_
สงสัย-สอบถาม-แนะนำ-ปรึกษา เพิ่มเติมได้ทาง
Line : @watertimer
ตอบทุกข้อความ แต่อาจจะตอบกลับช้าหน่อยนะครับ
(10.00น. – 22.30น.) ขอบคุณครับ _/\_